ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 9

มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำให้การของคนทั้งสองแล้ว ปรารถนาจะทำความจริงให้ประจักษ์ท่ามกลางมหาชน จึงให้คนใช้นำถาดพร้อมใบประยงค์มาด้วยกำหนึ่ง สั่งให้ตำในครกจนแหลก ขยำด้วยน้ำ แล้วกรอกน้ำนั้นใส่ปากโค https://dmc.tv/a2345

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ทศชาติชาดก > มโหสถบัณฑิต
[ 14 ส.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18293 ]
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 9


        จากตอนที่แล้ว เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ชาวนาชาวไร่พากันเริ่มงานไถเพื่อเตรียมหว่านข้าวกล้า ชายหนุ่มคนหนึ่งในปาจีนยวมัชฌคามก็เริ่มจะไถ่นาเช่นกัน จึงไปซื้อโคจากตำบลอื่น นำมาเลี้ยงไว้ รุ่งขึ้นก็พาออกไปกินหญ้าที่ชายทุ่ง ในช่วงบ่ายได้ผล็อยหลับไปครู่ใหญ่ ตื่นขึ้นมาอีกทีโคก็หายไปเสียแล้ว

        ครั้นสังเกตเห็นรอยเท้าคนจูงโคก้าวเป็นทางยาวไปตามแนวคันนา ก็มั่นใจว่าโคต้องถูกโจรลักไปแน่ จึงตัดสินใจออกวิ่งไล่ตาม กระทั่งไปถึงตัวก็ขู่ตะคอกว่า  แกจะนำโคของข้าไปไหน เอาโคของข้าคืนมานะ โจรก็กล่าวว่า โคนี่ของข้า  เอ็งเกี่ยวอะไรด้วย ต่างก็เถียงกันเอ็ดตะโร ไม่มีใครยอมใคร

        มหาชนได้ยินเสียงชายทั้งสองวิวาทกัน ก็มายืนมุงดูกันจนแน่น มโหสถบัณฑิตได้ยินเสียงเอ็ดอึง จึงให้เรียกคนทั้งสองมาในศาลา ขันอาสาว่า เราจะวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรม ท่านทั้งสองจะยอมฟังคำวินิจฉัยของเราหรือไม่ ชายทั้งสองก็รับคำ

        มโหสถบัณฑิตจึงถามชายที่เป็นโจรก่อนว่า “ท่านให้โคของท่านกินและดื่มอะไร” “กระผมให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมสด ขอรับ” โจรตอบ 

        แล้วจึงหันไปถามเจ้าของโคด้วยคำถามเดียวกัน ชายเจ้าของโคตอบว่า “กระผมให้กินหญ้าอย่างเดียวเท่านั้นล่ะ  คนจนอย่างกระผม จะหายาคู งา แป้ง และขนมสด มาแต่ที่ไหน”

        มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำให้การของคนทั้งสองแล้ว ปรารถนาจะทำความจริงให้ประจักษ์ท่ามกลางมหาชน จึงให้คนใช้นำถาดพร้อมใบประยงค์มาด้วยกำหนึ่ง สั่งให้ตำในครกจนแหลก ขยำด้วยน้ำ แล้วกรอกน้ำนั้นใส่ปากโค

        โคดื่มเข้าไปได้หน่อยหนึ่ง ก็สำรอกออกมาเต็มถาดนั้น ปรากฏว่ามีแต่ใบหญ้าล้วนๆ ไม่มีสิ่งใดเจือปนเลย  มโหสถบัณฑิตจึงยกถาดนั้นขึ้น ชี้ให้มหาชนได้เห็นโดยทั่วกัน แล้วหันมาถามโจรว่า  “เจ้าเป็นโจรลักโคเขามา ใช่หรือไม่” 

        ฝ่ายโจรเมื่อเห็นความจริงปรากฏเช่นนั้น ก็ไม่อาจทำหน้าด้านปากแข็งอีกต่อไป จำต้องยอมรับความเป็นจริง ด้วยสีหน้าที่เหมือนกำลังแก้ผ้าอยู่ท่ามกลางมหาชนว่า “ใช่ครับ กระผมเป็นโจร”

        ทันทีที่โจรรับสารภาพ ฝูงชนที่เฝ้ามุงดูเหตุการณ์อยู่นั้น ต่างก็กลุ้มรุมกันเข้าไปทุบตีเตะต่อยโจรด้วยความเจ็บแค้นแทนเจ้าของโคอย่างไม่ปรานีปราศรัย จนโจรนั้นบอบช้ำไปทั้งตัว

        มโหสถเห็นเช่นนั้น ก็เกรงเจ้าโจรร้ายจะมาตายคาสหบาทาของมหาชน จึงเข้าไปขอร้องให้ชาวประชาหยุดการลงประชาทัณฑ์ก่อน  แล้วก็กล่าวสอนโจรด้วยจิตเมตตาว่า “เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้อีกนะ เจ้าได้รับโทษในคราวนี้เพียงเท่านี้ ก็หนักหนาสาหัสพอแก่กรรมของเจ้าแล้ว แต่ต่อไปภายหน้า หากเจ้ายังขืนทำผิดอีก เจ้าคงรู้ดีว่าจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ยิ่งกว่านี้สักเพียงไร”    
 
        เมื่อเห็นว่าโจรได้สำนึกผิดแล้ว มหาชนจึงยินยอมปล่อยตัวโจรนั้นไปด้วยอาการสะบักสะบอม   จากนั้นมโหสถได้ให้โอวาทต่อไปว่า  “เจ้าเห็นทุกข์ของเจ้าในภพนี้แต่เพียงเท่านี้ แต่ในภพหน้า เจ้ายังจะต้องเสวยทุกข์ใหญ่ในนรก ต้องทนทุกข์ทรมานอีกยาวนานนับเท่าไม่ถ้วน แต่นี้ไปเจ้าจงละกรรมนี้เสีย แล้วจงรักษาศีลไว้ให้ดี เผื่อว่าทุกข์นั้นจะได้ลดหย่อนผ่อนเบาลง”

        โจรนั้นก็รับปากว่า “ขอรับนายท่าน ต่อไปกระผมจักไม่ทำเช่นนี้อีก” นับแต่นั้นมา เขาก็กลับตัวกลับใจ แล้วตั้งใจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำรายงานที่มหาอำมาตย์ส่งมาถวายทั้งหมด ด้วยพระอาการเพลิดเพลิน ครั้นทูตนำสาส์นกราบทูลเรื่องนั้นจบลง พระองค์ก็ทรงพระสรวลด้วยความปราโมทย์ยินดีในการวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต

        แม้ว่าจะทรงพอพระทัยในตัวบัณฑิตน้อยเป็นนักหนา  แต่ก็ยังมิอาจตรัสชื่นชมมโหสถให้มากเกินไป ด้วยทรงมีพระประสงค์จะรับฟังความเห็นของท่านอาจารย์เสนกะเสียก่อน จึงรับสั่งถามอย่างไม่อ้อมค้อมว่า “ท่านอาจารย์ เราสมควรจะรับพ่อมโหสถบัณฑิตเข้ามาได้หรือยัง”

        ฝ่ายท่านเสนกะเห็นพระเจ้าวิเทหราชทรงใฝ่พระหฤทัยถึงมโหสถเป็นอันมาก ก็ยิ่งขุ่นเคืองใจ ทั้งเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า “..นี่ขนาดยังมิทันรับตัวมโหสถเข้ามา พระองค์ยังทรงชื่นชมโสมนัสถึงเพียงนี้   ...หากวันใดมโหสถได้เข้ามาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ละก็ วันนั้น เห็นทีว่าตนและสหายที่เหลือคงจะสิ้นความสำคัญเป็นแน่ ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไร ก็จักต้องหาทางทูลทัดทานไว้ให้จงได้”   คิดดังนี้แล้ว จึงกราบทูลพระราชาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกันว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ ขอได้ทรงโปรดยับยั้งเรื่องนั้นไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า” 

        “อย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ท่านคิดว่ายังไม่สมควรหรือ” พระองค์รับสั่งถามซ้ำอีก

        “พะยะค่ะ ข้าพระบาทเห็นว่า ข้อวินิจฉัยนี้ยังเป็นเหตุเล็กน้อยเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุที่พระองค์จะทรงรับตัวมโหสถเข้ามาสู่พระราชมณเฑียรในฐานะราชบัณฑิตของพระองค์เลยพระเจ้าข้า” ท่านเสนกะยืนยันหนักแน่นเช่นเดิม
 
        “อะไรกันท่านอาจารย์ มโหสถกุมารอายุเพียงน้อยนิด แต่สามารถตัดสินข้อพิพาทที่ยากถึงเพียงนี้ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านยังจะเห็นว่าเป็นเหตุเล็กน้อยอยู่อีกหรือ” พระเจ้าวิเทหราชทรงซัก ด้วยหวังว่าจะได้ฟังคำตอบที่ทรงพอพระหฤทัย

        “ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่าเล็กน้อยนั้น เพราะคดีตู่อ้างความเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นเพียงคดีธรรมดาที่มิสู้จะมีเงื่อนงำที่เร้นลับแต่อย่างใด บัณฑิตอาศัยปัญญาเพียงเล็กน้อย ก็อาจวินิจฉัยได้ พระเจ้าข้า”

        “เช่นนั้นหรือ ท่านอาจารย์”
 
        “ใช่แล้วพะยะค่ะ  จริงอยู่ มโหสถกุมารอาจเฉลียวฉลาดเกินกว่ากุมารทั่วไป แต่ก็หาได้มีปัญญามากไปกว่าบุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั่วไปแต่อย่างใด ฉะนั้น มโหสถกุมารจึงยังไม่สมควรที่จะเรียกว่าเป็นยอดแห่งมหาบัณฑิต พระเจ้าข้า”

        “อืมม..ท่านอาจารย์ ที่ท่านกล่าวมาก็มีเหตุผลอยู่ แล้วถ้าเช่นนั้นเราควรจะทำอย่างไรกันดีละ”

        คำทูลทัดทานของท่านเสนกะดูจะได้ผลดี พระสุรเสียงของพระองค์เริ่มอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด และมีทีท่าว่าทรงคล้อยตามคำของท่านเสนกะแล้ว

        “ขอเดชะ ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า ในเวลานี้ควรที่พระองค์จะต้องรอคอยต่อไปสักหน่อย จึงจะเป็นการดี ครั้นพระองค์ทรงพิจารณาใคร่ครวญ จนทราบแน่ชัดว่า มโหสถผู้นี้มีปรีชาญาณมากน้อยเพียงใด เมื่อนั้นก็สุดแล้วแต่พระองค์จะทรงตัดสินพระหฤทัย พระพุทธเจ้าข้า”

        “ก็ดีเหมือนกัน ท่านอาจารย์ เป็นอันตกลงตามนั้น”  รับสั่งเช่นนี้แล้ว ก็ให้ทูตนำพระกระแสรับสั่งกลับไปบอกอำมาตย์ผู้นั้นให้เฝ้าสังเกตดูเหตุการณ์ต่อไปอีก เรื่องที่ว่าอาจารย์เสนกะจะยินยอมให้มโหสถบัณฑิตเข้ามาสู่พระราชวังโดยง่ายนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะเขารู้ดีว่า นั่นคือเหตุที่จะทำให้รัศมีของเขาและสหายอ่อนแรงโรยแสงลง ส่วนเหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 


http://goo.gl/hmFsG


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย
      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 201
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 200
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 199
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 198
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 197
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 196
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 195
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 194
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 193
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 192




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related