ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 1

อธิษฐานบารมีนั้น คือการตั้งใจมั่นอย่างแน่วแน่ในการทำความดี อันมีผลสุดท้ายคือการกำจัดทุกข์ของตนเองและผู้อื่น แม้เป้าหมายจะยิ่งใหญ่แค่ไหน เมื่อได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะทำ ก็ต้องทำให้สำเร็จให้จงได้ จะไม่เลิกรา และไม่ลดเป้าหมายลงอย่างเด็ดขาด https://dmc.tv/a1584

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ทศชาติชาดก > พระเนมิราช
[ 5 เม.ย. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18272 ]
View this page in: 中文
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  เนมิราช   ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี  ตอนที่ 1
 
 
         เราได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติที่สำคัญๆ มา 3 พระชาติแล้วคือ ชาติที่ทรงเกิดเป็นพระเตมียราช ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ที่ท่านระลึกชาติได้ตั้งแต่ยังเยาว์วัย รู้ว่าทรงเคยตกอุสสุทนรกมายาวนาน จึงทรงแกล้งทำเป็นใบ้เพื่อให้ได้ออกบวช
 
 
        ชาติที่ทรงเกิดเป็นพระมหาชนกราช ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ที่ท่านขนสินค้าขึ้นเรือเพื่อไปค้าขายทางทะเล เมื่อเรือล่มท่านต้องว่ายน้ำอยู่ในทะเลถึง 7 วัน ในที่สุดก็ได้ครองราชย์ และได้ข้อคิดจากต้นมะม่วงสองต้นกระทั่งได้ทรงออกผนวชในตอนสุดท้าย
 
 
        และชาติที่เกิดเป็นสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ที่ท่านมีบิดามารดาเป็นฤษีและฤษิณี ในชาตินี้ท่านเจริญเมตตาต่อคนและสัตว์ทั้งหลาย แม้จะถูกพระเจ้าปิลยักขราชยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษก็ไม่โกรธเคือง และได้ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาผู้ตาบอดทั้งสองท่านอยู่ในป่าจนตลอดชีวิต
 

        วันนี้เรามาศึกษาประวัติการสร้างบารมี ในพระชาติที่สำคัญอีกชาติหนึ่ง ที่ท่านทรงสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในชาติที่ทรงเกิดเป็นพระเจ้าเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี

        อธิษฐานบารมีนั้น คือการตั้งใจมั่นอย่างแน่วแน่ในการทำความดี อันมีผลสุดท้ายคือการกำจัดทุกข์ของตนเองและผู้อื่น แม้เป้าหมายจะยิ่งใหญ่แค่ไหน เมื่อได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะทำ ก็ต้องทำให้สำเร็จให้จงได้ จะไม่เลิกรา และไม่ลดเป้าหมายลงอย่างเด็ดขาด

        ถ้าจะเปรียบภาพของ อธิษฐานบารมี ให้เห็นชัดก็คือ เป็นการตั้งใจที่ไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาหินที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวด้วยแรงพายุ การสร้างอธิษฐานบารมีนี้จึงมีลักษณะว่า “ยอมตาย ไม่ยอมเปลี่ยนใจอย่างเด็ดขาด” ดังเรื่องของพระเจ้าเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมีที่จะนำมาเล่าดังต่อไปนี้

        ครั้งหนึ่ง  ในสมัยพุทธกาล เวลาเย็นวันหนึ่ง  พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระอานนทเถระ และเหล่าภิกษุเป็นจำนวนมากประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่ง ซึ่งอดีตเคยเป็นพระราชอุทยานอัมพวัน  ของพระเจ้ามฆเทวราช กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ

        พระองค์ทรงเห็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์นั้นแล้ว จึงทรงระลึกถึงเรื่องราวในอดีตว่าสถานที่แห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร ด้วยพุทธญาณอันหาที่สุดมิได้ พระพุทธองค์ก็ทรงทราบเรื่องราวที่ผ่านมาเนิ่นนานโดยตลอด 

        จึงทรงแย้มพระโอษฐ์  แสงดวงตะวันในยามเย็นได้ส่องกระทบพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ ทำให้เกิดแสงสว่างวาบขึ้น

        แสงนั้นคือเกลียวรัศมีสี่สายที่เกิดขึ้นจากพระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ เมื่อต้องแสงตะวันก็ทอประกายแปลบปลาบประดุจสายฟ้าพวยพุ่งออกมาจากพระโอษฐ์    แสงนั้นได้เวียนขวารอบพระเศียรของพระพุทธองค์  ๓  รอบ  แล้วจึงอันตรธานไป  

        พระอานนทเถระผู้เป็นปัจฉาสมณะ ตามเสด็จมาเบื้องหลังได้รู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์  ด้วยสัญญาณแห่งแสงสว่างนั้น จึงกราบทูลถามถึงเหตุแห่งการทรงแย้มพระโอษฐ์     

        พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงมีพระพุทธดำรัสว่า  “ดูก่อนอานนท์  เราเคยอาศัยอยู่ในสถานที่นี้  เพื่อเจริญฌานในสมัยที่เราเกิดเป็นพระเจ้ามฆเทวราช” 

        ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนที่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นท้าวมฆเทวาราช ได้เคยเจริญฌานในที่นี้นั้นมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไรหรือพระเจ้าข้า”  

        ด้วยพระมหากรุณาที่จะทรงทำบุพจริยาของพระองค์ให้แจ่มแจ้งแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงทรงนำพระชาติในอดีตมาตรัสเล่า ซึ่งมีเรื่องราวดังต่อไปนี้

        ในอดีตกาลไกลโพ้น  มนุษย์มีอายุยืนมาก  เนื่องเพราะความประมาทในความที่ตนมีอายุยืนนี่เอง จึงเป็นเหตุให้ผู้คนเป็นจำนวนหนึ่งเกิดความประมาทมัวเมา  ใช้ชีวิตให้สิ้นไปวันๆ ด้วยการกิน ดื่ม เที่ยว ประดุจว่าเขาจะไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย

        แต่ถึงกระนั้น ก็มีคนบางเหล่าที่เป็นบัณฑิตมีความเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ใช้ลมหายใจและไออุ่นแห่งชีวิตให้เป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมี  โดยมิได้คำนึงว่าเวลาแห่งชีวิตของตนจะมากหรือน้อย  เพราะมีปัญญามองเห็นความเป็นจริงแห่งชีวิตว่า แม้จะมีอายุยืนยาวเพียงไร แต่ในความเป็นจริงนั้นเราแก่ลงไปทุกวัน และจะตายลงวันไหนก็ไม่รู้ มองเห็นว่ายังมีภัยร้ายแรงที่คุกคามชีวิตอยู่ตลอดเวลา
 
        ดังเช่นท้าวมฆเทวราช   มหากษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา  แคว้นวิเทหรัฐ  พระองค์ทรงถือกำเนิดในยุคที่มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ย ๔ แสนปี ทรงเล่นอย่างสนุกสนานในความเป็นพระราชกุมารอยู่ถึง  ๘๔,๐๐๐ ปี   ทรงครองราชย์สมบัติอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี และเป็นพระมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่อยู่ต่อมาอีก ๘๔,๐๐๐ ปี ตลอดระยะกาลที่ผ่านมานี้ พระองค์ได้ทรงอธิษฐานจิตมั่นว่า “หากเส้นผมของเราแม้เพียงเส้นเดียวเกิดหงอกขึ้นคราวใด คราวนั้นเราจะออกบวชดาบสในทันที”

        ความที่พระองค์ทรงมั่นอยู่ในคำอธิษฐานนี้ ได้แสดงให้ปรากฏด้วยการทรงมีรับสั่งกับนายภูษามาลาว่า “ เมื่อเจ้าเห็นผมหงอกบนศีรษะของเราเมื่อไร  ก็จงรีบบอกเราให้ทราบในทันที ”

        จำเนียรกาลผ่านไปอีกหลายร้อยปี  วันหนึ่ง ขณะที่นายภูษามาลาถวายงานแต่งพระเกศาอยู่นั้น เขาได้เห็นเส้นพระเกศาของพระเจ้ามฆเทวราช เส้นหนึ่งเกิดหงอกขาว จึงได้กราบทูลพระองค์ให้ทรงทราบ   
 
        พระเจ้ามฆเทวราชจึงทรงมีรับสั่งให้ถอนพระเกศาเส้นนั้นด้วยแหนบทองคำ แล้วให้วางไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงพิจารณาผมนั้นเหมือนเห็นความตายที่มาปรากฏตัวยืนอยู่เบื้องหน้า   ก็ทรงเบื่อระอาในความไม่เที่ยงของสังขาร หมดความยินดีที่จะเสวยพระราชสมบัติอีกต่อไป ด้วยทรงเห็นว่า “ความร่าเริงยินดีตามแบบของชาวโลก เราก็ได้รับมาพอแล้ว บัดนี้ร่างกายของเราได้ย่างเข้าสู่วัยชรา สมควรที่เราจะได้ออกบวชตามคำที่เราได้อธิษฐานเอาไว้ เพื่อชำระหนทางแห่งสวรรค์ให้บริสุทธิ์”

        จึงทรงพระราชทานบ้านส่วยหนึ่งตำบล ซึ่งมีเงินภาษีเกิดขึ้นให้ได้ใช้เลี้ยงชีพไปตลอดชีวิตแก่นายภูษามาลา   และได้ตรัสบอกเหตุแก่พระโอรสว่า “ผมหงอกบนศีรษะของพ่อนี้ บอกให้พ่อทราบว่า ความเป็นหนุ่มของพ่อได้สิ้นไปแล้ว เทวทูตแห่งความตายปรากฏแล้ว คราวนี้เป็นคราวที่พ่อจะออกบวช”

        จากนั้นจึงทรงอภิเษกพระราชโอรสพระองค์โตไว้ในราชสมบัติ  พร้อมทั้งพระราชทานพระโอวาทว่า  “ถึงตัวลูกเองก็จงครองราชย์สมบัติโดยธรรม จงดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท และเมื่อผมหงอกปรากฏบนศีรษะของลูกเมื่อไร   ลูกก็จงบวชเหมือนกับพ่อนี้ ”

        การที่พระเจ้ามฆเทวราชทรงสอนพระองค์เองได้ เพราะทรงเป็นผู้มีปัญญาที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้ว  ลำพังคนธรรมดาทั่วไป  แม้จะมีอายุขัยเพียงแค่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี อย่างกับมนุษย์ในยุคนี้  ก็มิได้สอนตนเองได้เหมือนพระเจ้ามฆเทวราช 

        เพราะความสั้นหรือยาวของอายุมิได้เป็นเครื่องชี้ชัดเสมอไปว่า เมื่อคนมีอายุน้อยลง แล้วจะสามารถสอนตนเองได้ แต่อยู่ที่การได้คบบัณฑิต ได้ฟังธรรมของบัณฑิต และได้ประพฤติธรรมของบัณฑิต ดังนั้น บุคคลเมื่อได้คบกับบัณฑิต ชีวิตก็ย่อมจะเจริญสูงขึ้นไป ส่วนวงศ์กษัตริย์ของพระเจ้ามฆเทวราชจะดำเนินไปอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 

http://goo.gl/iOIER


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย
      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 201
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 200
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 199
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 198
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 197
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 196
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 195
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 194
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 193
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 192




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related